วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2568 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธาน เปิดอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. เข้าร่วมฯ
อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2567 เป็นอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแห่งที่ 8 ในประเทศ ลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องต่างๆ อาทิ ห้องกลุ่มวิชาการ ห้องกลุ่มตรวจสภาพอากาศ และห้องนักบิน / รองรับและสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง และจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อสืบสาน ศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เกษตร ป่าไม้ และเติมน้ำต้นทุนให้แก่อ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไฟป่า และภัยพิบัติอื่น ๆ แก่เกษตรกร และประชาชน ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง
จากนั้น องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้า จุดก่อสร้างโรงผลิตสารฝนหลวง (น้ำแข็งแห้ง) แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 8 โรงผลิตฯ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตในการดำเนินการก่อสร้าง และทรงรับไว้เป็นโครงการตามพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสารฝนหลวง สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว สามารถช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 คาดว่าจะดำเนินการเสร็จในช่วงเดือนตุลาคม 2568
และติดตามความก้าวหน้า "โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง" ซึ่งดำเนินการไปแล้วร้อยละ 80 ใช้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการถาวร เฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านฝนหลวง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่สร้างประโยชน์อเนกอนันต์แก่ประเทศชาติให้เป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน มาเป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม อันจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ